วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สัปดาห์2

เลือก LCD monitor แบบมืออาชีพ

ในปัจจุบันนี้ หากเราสังเกตความนิยมในการเลือกใช้งานจอคอมพิวเตอร์แล้ว จะเห็นได้ว่าความนิยมในการเลือกจอภาพแบบ LCD มาใช้งานแทนที่จอขนาดใหญ่อย่าง CRT รุ่นเก่านั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นแบบเครื่องประกอบหรือเครื่องอินเตอร์แบรนด์ที่มักจะมากับจอ LCD ทั้งที่ดูราคาไม่สูง ด้วยเหตุดังกล่าว Feature ฉบับนี้จึงมีบทความแนะแนวทางในการเลือกซื้อ LCD ให้เหมาะสม ถูกใจถูกงบประมาณอีกด้วย


เลือก LCD Monitor ไว้ใช้งานเราควรรู้อะไรบ้าง?
เรื่องแรกก็คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ Passive Matrix และ Active Matrix โดยเทคโนโลยีทั้งสอง มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ

ภาพแสดงการทำงานของ LCD


ขั้นตอนในการเกิดภาพบนพาเนล


ต้นกำเนิดพิกเซลบนจอ LCD

1. Passive Matrix หรือที่เรียกว่า Super-Twisted Nematic (STN) ซึ่งเป็นเทคนิคแบบเก่าเริ่มแรก จะมีความสว่างน้อยกว่า ส่วนมากถูกนำมาใช้ในจอโทรศัพท์มือถือทั่วไป โดยใช้หลักการทำงานของไดโอดในการนำประจุไฟฟ้าภายในตัวเซลล์ของผลึกเหลวแต่ละตัว แต่ข้อเสียคือตอบสนองต่อการทำงานค่อนข้างช้า ซึ่งหากสังเกตได้ชัดก็คือการเคลื่อนหรือเปลี่ยนหน้าจอเร็วๆ จะเห็นภาพซ้อน หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โกสต์” เกิดขึ้น ข้อดีของ Passive คือราคาไม่แพง แต่ปัจจุบันแทบไม่มีการผลิตแล้ว

2. Active Matrix หรือที่เรียกว่า Thin Film Transistors (TFT) ถูกพัฒนาให้แสดงภาพได้คมชัดและสว่างกว่าแบบแรก ส่วนที่ทำให้ดีขึ้นมาก เกิดจากการที่ Active Matrix นั้นจะใช้ทรานซิสเตอร์เป็นตัวควบคมการเปิด-ปิดของพิกเซล ซึ่งข้อดีของทรานซิสเตอร์ก็คือทำงานได้เร็วกว่าไดโอดจึงลดการเกิด “โกสต์” ของภาพที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ ดังนั้นหากนำไปใช้กับงานที่ต้องการแสดงผลภาพเร็วๆ ก็สามารถทำได้เลย โดยให้คุณภาพค่อนข้างดีมากเลยทีเดียว โดยปัจจุบันนี้จอ LCD จะนำเทคโนโลยีแบบ Active-Matrix มาใช้ทั้งหมด เนื่องจากมูลค่าของการผลิตนั้นถูกลงมากนั่นเอง



ความแตกต่างของพาเนลชนิดต่างๆ
โดยในปัจจุบันเราอาจแบ่งพาเนลของจอ LCD ออกได้สามกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มแรก TN กลุ่มที่สอง MVA, PVA และกลุ่มที่สาม IPS สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยทีเดียวสำหรับการเลือกซื้อ LCD Monitor



กลุ่มที่หนึ่ง TFT แบบ TN พาเนลที่พัฒนามาจาก Active Matrix
จุดแข็งของ TN มีไม่มากนักแต่ก็โดนใจผู้ใช้มากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนผลิตที่มีค่าใช้จ่ายน้อย และให้อัตราตอบสนองต่อพิกเซล ( Response Time) ได้รวดเร็วมาก ผลคือมอนิเตอร์เกือบจะทั้งหมดในตลาดที่ให้การตอบสนองต่อเม็ดพิกเซลแต่ละตัวได้อย่างรวดเร็วมากที่สุด ใช้พาเนล TN นี้เอง บางรุ่นให้อัตราตอบสนองได้เร็วถึง 2ms (มิลลิวินาที) อย่างไรก็ตาม ในด้านอื่นที่เหลือเกือบจะทั้งหมด พาเนลในแบบ TN ยังเป็นรองอยู่เช่นกัน เช่นการให้สี และมุมมองภาพ ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญ รวมถึงการให้โทนสี ที่มักจะสร้างเม็ดสีมีลักษณะติดกันเป็นปื้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงที่มีการเรนเดอร์สีของพื้นผิว เนื่องจากตัวพาแนลมีค่า Contrast น้อยที่สุดนั่นเอง ในท้องตลาดจะอยู่สูงสุดประมาณ 700 : 1 เท่านั้น


- MVA (Multi-Domain Vertical Alignment)
เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการตอบสนองของพิกเซลที่ยังคงช้าอยู่ Fujitsu จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยี LCD ออกมาอีกตัวหนึ่งคือ MVA ซึ่งข้อดีคือสามารถให้มุมมองค่อนข้างกว้าง กว้างกว่าในแบบ TN ประมาณ 45 องศา และปรับปรุงให้มี Contrast ratio สูงกว่าแบบ TN ด้วย ส่วนทางด้านคุณภาพสียังไม่มีจุดน่าสนใจมากนัก

- P-MVA และ S-MVA (Premium / Super Multi-Domain Vertical Alignment)
ตามชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามาแทน MVA แบบเดิม โดยเพิ่มมุมมองให้กว้างขึ้น และทำให้สีมีความถูกต้องมากขึ้น ในท้องตลาดที่นิยมยังเป็นเพียง P-MVA เท่านั้น แต่ข้อด้อยก็คือ ยังคงมีการสูญเสียรายละเอียดในโทนมืด และราคาที่ยังแพงกว่า TN นั่นเอง

- PVA (Patterned Vertical Alignment)
พาเนลชนิดนี้ถูกพัฒนาโดย Samsung ชื่อที่หลายต่อหลายคนวางใจในเรื่องเทคโนโลยีการให้ภาพ โดยรวมแล้วมีคุณภาพสีและมุมมองที่ดีกว่า MVA อยู่กึ่งหนึ่ง (แต่ยังเป็นรอง P-MVA) ทางด้านข้อเสียก็คือยังคงมีการตอบสนองพิกเซล (Response Time) ที่ช้ามาก

- S-PVA (Super Patterned Vertical Alignment)
Samsung ยังคงพัฒนาพาเนล PVA ของตน มาเป็น S-PVA ซึ่งแก้ปัญหาการสูญเสียรายละเอียดโทนมืดได้ดีกว่าพาเนลแบบ MVA รวมทั้งให้ค่า Contrast และ Response Time ที่ดีกว่าพาเนลแบบ MVA อีกด้วย



กลุ่มที่สาม IPS (In-Plane Switching) ที่สุดของคุณภาพสี
IPS เป็นพาเนลที่ได้รับการพัฒนาจาก Hitachi และ NEC ข้อดีที่เป็นสุดยอดของ IPS ก็คือเรื่องของความแม่นยำในการให้สีสัน ไม่มีเทคโนโลยีอื่นทำได้เหมือน ด้วยเหตุผลที่ว่านี้ จอแสดงผลระดับไฮเอนด์ทั้งหมด จึงยกให้จอแบบ IPS เป็นมาตรฐาน สำหรับการผลิตงานกราฟิกต่างๆ นอกจากนี้ IPS ยังให้มุมมองภาพที่กว้างอย่างเหลือเชื่ออีกด้วย แต่ IPS ในยุคเริ่มแรกยังคงมีปัญหาในการให้ Contrast แสงสว่าง และ Response Time ที่ยังไม่ค่อยดีนัก คือดีด้านคุณภาพสีกับมุมมองเท่านั้น

- S-IPS (Super In-Plane Switching)
ถูกปรับปรุงขึ้นมาจากการร่วมมือกันของ LG และ Philip โดยตั้งใจทำลายกำแพงข้อด้อยในเรื่อง อัตราการตอบสนองพิกเซล และเพิ่ม Contrast ให้ดีกว่า IPS เดิม โดยมุมมองจะทำได้กว้างที่ประมาณ 170 องศา

- AS-IPS (AdvanceSuper In-Plane Switching)
เป็นยุคที่สามของพาเนลแบบ IPS ที่ LG และ Philip พัฒนาขึ้นมา เรื่องคุณภาพสีคงไม่ต้องกล่าวถึงเพราะทำได้สุดยอดอยู่แล้ว หลักๆ คือการเพิ่มมุมมองมากเป็น 178 องศาเลยทีเดียว นอกจากนั้น Response Time ก็ทำได้ใกล้เคียงกับพาเนลในแบบ TN ที่เรียกได้ว่าจ้าวแห่งความเร็ว รวมทั้งให้ค่า Contrast ratio ได้มากถึง 1600 : 1 ซึ่งมากกว่าในแบบ MVA ถึงเท่าตัว แต่ความสมบูรณ์ในระดับนี้ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง
รายละเอียดที่น่าสนใจในการเลือกซื้อ



- เริ่มจากมุมมองหรือ Angle View สำคัญหรือไม่?
คุณภาพความกว้างขององศาในการมองก็เป็นไปตามลักษณะพาเนลที่ใช้ โดยในแบบ TN นั้นตามแนวนอนจะอยู่ในช่วง 140-160 องศา ซึ่งมีค่าน้อยที่สุดในแบบพาเนลทั้งสามกลุ่ม โดยพาเนลในแบบ MVA และ PVA จะอยู่ระดับกลาง และมี AS-IPS ซึ่งให้มุมมองได้กว้างที่สุดในปัจจุบันนี้ ในการเลือกซื้อคงต้องพิจารณาว่าในการใช้งานเราต้องการเนื้อที่และมุมในการมองมากน้อยเพียงใด
เริ่มจากด้านซ้ายคือภาพมุมมองด้านข้างและ บน-ล่าง ของพาเนล TN สังเกตได้ว่าแม้ในขณะมองตรงๆ ภาพก็ยังมืดและรายละเอียดได้แย่กว่าพาแนลชนิด VA และ IPS ครั้นพอมองจากด้านข้างและด้านล่าง จะยิ่งเห็นความผิดปกติของภาพได้ชัดเจน ส่วนรูปทางขวาสุดคือภาพที่ได้จากพาเนล IPS จะเห็นว่ามองจากตำแหน่งไหนก็ให้รายละเอียดแทบจะเท่ากับมองจากด้านตรงเลยทีเดียว



ภาพมืดรายละเอียดสีไม่ชัดเจนเกิดจากอะไร?
รายละเอียดที่น่าสนใจอีกตัวก็คือค่า Contrast และ Brightness ที่ระบุมาข้างกล่องหรือในเว็บไซต์ก็ตาม สองค่านี้ยิ่งสูงยิ่งดี เราอาจจะเปรียบเทียบจากรูปภาพทั้งสามรูปก่อนหน้านี้ โดยมองจากมุมตรงเข้าไป พาเนลในแบบ TN จะเห็นว่ามืดกว่ารายละเอียดต้นไม้ข้างหลังไม่ชัดเจน เนื่องจากมีค่า Brightness น้อยนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าพาแนลแบบ TN นั้นยังมีการกลืนกันของสีชัดเจนกว่าพาแนลในแบบ VA ที่อยู่ตรงภาพกลาง ซึ่งจุดนี้หากจะนำ LCD ในแบบ TN มาใช้กับงานกราฟิกที่ต้องการความถูกต้องของสีมากๆนั้น ไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน ส่วนค่า Contrast ratio นั้นบางรุ่นบางยี่ห้อจะมีค่าสูงมาก เช่น 3000 : 1 ทั้งที่เป็นพาแนลในแบบ TN เท่านั้น ตรงจุดนี้เป็นการใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุม Contrast ซึ่งช่วยเร่งให้สูงขึ้น ผลที่ได้คือสีมีความอิ่มตัวมากขึ้น แต่ก็มีความผิดเพี้ยนของสีมากขึ้นเช่นกันดังรูปภาพขวาสุดครับ



เรื่องที่เถียงกันมากมายกับค่า Response Time
ตามความหมาย Response Time ก็คือความเร็วของเวลาในการตอบสนองเม็ดพิกเซลในการเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาวแล้วกลับมาเป็นสีดำอีกครั้ง ซึ่งมีหน่วยเป็นมิลลิวินาที ยิ่งมีเลขน้อยยิ่งเร็ว คือ 8 ms จะเร็วกว่า 16 ms ซึ่งจะมีผลกับภาพที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูง นอกจากนี้ยังมีความเร็วของ Response Time ที่ใช้การวัดในแบบ GTG (Gray to Gray) อีกด้วย ซึ่งข้างกล่องจะมีค่าน้อยมากๆ อย่างเช่น 6ms GTG เป็นต้น แต่จะทำการวัดโดยเริ่มจากสีเทาเปลี่ยนเป็นขาวแล้วกลับมาเป็นสีเทาซึ่งหากเทียบแล้วจะเร็วกว่าแบบหน่วยการวัดเดิม ดังนั้นเราก็ต้องดูกันให้ดีว่าใช้หน่วยวัดใด บางคนอาจพบว่าทำไม 8 ms ที่บ้านดูภาพเป็นเงาเท่ากับ 16 ms ของเพื่อนเลย เหตุเพราะปัจจัยดังกล่าวนี้เอง

เลือก LCD monitor แบบมืออาชีพ

เลือกให้ถูกใจทั้งรูปทรงและการเชื่อมต่อ
กรณีตัดสินใจได้แล้วว่าถูกใจพาแนลชนิดไหน ขนาดจอ รูปร่างก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องเลือกว่าโต๊ะทำงานเรา ขนาดห้องของเราเหมาะสมกับจอขนาดใด ส่วนเรื่องรูปทรงก็แล้วแต่รสนิยมของผู้ใช้ครับ แต่ที่อยากจะเน้นก็คือพอร์ตอินพุต หากเป็นไปได้ควรจะมีพอร์ต DVI เพื่อรับสัญญาณแบบดิจิตอลติดมาด้วย นอกเหนือจากพอร์ต D-Sub หรือของแถมอย่างลำโพงภายในเครื่อง และลักษณะของวงจรแปลงไฟอยู่ภายนอก หรือภายในตัวเครื่องเลย



ตรวจสอบของและเรื่องการรับประกันก่อนออกจากร้าน
สิ่งสำคัญที่สุดในการตรวจก็ก็คือ การตรวจหา Dead pixel และ Bright pixel วิธีง่ายๆและใช้ได้ผลคือการปรับพื้นหลังเป็นสีโทนอ่อนซัก 2-3 สี อย่างเช่นสีเหลือง สีฟ้า หรือสีขาว แล้วค่อยๆกวาดตาดูหากเจอจุดดำมืด นั่นคือ Dead pixel นั่นเอง และการหา Bright pixel ก็ปรับพื้นหลังเป็นสีโทนเข้มอย่างสีดำ หากมีจุดสีอื่นให้เห็นก็ไม่ต้องยกเครื่องนั้นออกจากร้าน มองหาเครื่องอื่นได้เลยครับ ส่วนเรื่องการรับประกันก็คุยรายละเอียดกันให้เข้าใจเสียก่อนจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง